การทำหนังตะลุง
การแกะรูปหนัง
การแกะรูปหนัง เป็นงานหัตถกรรมที่มีสืบมาแต่อดีตควบคู่กับการเล่นหนังตะลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เป็นแหล่งที่มีการประกอบหัตถกรรมประเภทนี้มากที่สุด ปัจจุบันประมาณว่ามีช่างแกะรูปหนังทั้ง 3 จังหวัดนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 150 คน บางท้องถิ่นอย่างเช่น หมู่ที่ 5 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประกอบการเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนหลายครัวเรือน
แต่เดิมการแกะรูปหนังจะทำเฉพาะรูปสำหรับเชิดในการเล่นหนังตะลุงเท่านั้น ช่างแกะรูปหนังจึงมีไม่มากทำกันในวงแคบและด้วยใจรักหนังตะลุงเป็นหลัก แต่ระยะหลังคือประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ได้มีผู้คิดนำเอากระดาษถุงปูนซีเมนต์มาแกะระบายสีเป็นรูปหนังตะลุงออกจำหน่ายตามตลาดนัดและงานเทศกาลต่างๆ ครั้นช่างแกะหนังเห็นว่าขายดี จึงหันมาแกะรูปหนังด้วยหนังจริงๆ ออกจำหน่ายเป็นเชิงพาณิชย์ ด้านรูปแบบก็ค่อยพัฒนากว้างขวางขึ้น คือแทนที่จะแกะรูปหนังเชิดเพียงอย่างเดียวก็คิดแกะเป็นรูปจับและรูปหนังใหญ่เพื่อใช้เป็นเครื่องตกแต่งฝาผนังอาคารบ้านเรือน ยิ่งในช่วงหลัง พ.ศ.2510 รูปหนังสำหรับตกแต่งเป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง จึงมีผู้หันมาประกอบหัตถกรรมแกะรูปหนังมากขึ้นช่างหลายคนได้พัฒนาฝีมือจนผลงานมีคุณค่าสูงส่งทางศิลปะมีช่างสุชาติ ทรัพย์สิน ช่างเจริญ เมธารินทร์ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ช่างอิ่ม จันทร์ชุม อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นต้น
งานแกะรูปหนัง ไม่ว่าจะเป็นรูปหนังตะลุงสำหรับเชิดหรือรูปสำหรับประดับตกแต่ง มีกรรมวิธีและขั้นตอนดำเนินการเหมือนกันดังนี้ ในการเตรียมหนัง ช่างจะนำหนังสดๆ ที่เพิ่งชำแหละมาใหม่ๆ มาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยม โดยใช้เชือกหรือลวดดึงหนังทุกด้านให้ตึงใช้มีดตัดเนื้อเยื่อและพังผืดของหนังด้านในออกตากหนังทิ้งไว้ 2-3 วัน เมื่อหนังแห้งสนิทแล้วจึงแก้ออกจากกรอบไม้นำมาฟอก วิธีฟอกหนังสมัยก่อนทำได้หลายแบบ เช่น แช่หนังในน้ำหมักผลมะเฟือง ใบส้มป่อย ใบชะมวง หรือส้มอื่นๆ และข่า และแช่หนังในน้ำหมักเนื้อสับปะรด เป็นต้น
ขั้นเตรียมหนัง ขั้นเตรียมหนัง หนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมี 2 อย่าง คือ หนังวัวและหนังควาย เพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง ครั้นระบายสีและนำออกเชิดบนจอ (สำหรับหนังตะลุง) จะให้สีสันสวยงาม ดูโปร่ง ไม่มืดทึบ อีกอย่างหนึ่งหนังวัว หนังควายไม่บิดงอหรือพับง่ายๆ เมื่อออกเชิดจึงบังคับการเคลื่อนไหวให้ตัวหนังแสดงอิริยาบถได้ดี และสมจริง สำหรับหนังสัตว์อื่นๆ เช่นหนังค่าง หนังอีเก้ง หนังหมี หนังเสือ ฯลฯ ก็ใช้แกะรูปหนังได้แต่หนังสัตว์พวกนี้ค่อนข้างจะทึบแสง ช่างจึงใช้แกะรูปที่ไม่ต้องการโชว์ลายแกะฉลุและสีสันของตัวหนัง เช่น รูปตลก และรูปกาก ทั้งหลาย การหมักจะใช้เวลา 3-4 วัน ให้กรดจากน้ำหมักกัดหนังให้ขาวและหนังนิ่มคืนสภาพเหมือนหนังสดๆ จากนั้นจึงนำหนังมาล้างเพื่อขูดขนออก วิธีฟอกหนังทั้งสองแบบ แบบที่หมักน้ำสับปะรดลงทุนสูงกว่า แต่สะดวกและรวดเร็ว เพราะวิธีนี้เนื้อเยื่อและขนจะหลุดออกจากหนังได้โดยง่าย
การฟอกหนัง
การฟอกหนังในปัจจุบันสะดวกและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก คือ ช่างจะแช่หนังที่ตากแห้งแล้วในน้ำส้มสายชูซึ่งผสมน้ำให้พอมีรสเปรี้ยวแช่ไว้ชั่วโมงเศษๆ หนังก็จะคืนตัวนิ่มอย่างหนังสดๆ จากนั้นจึงนำไปขูดขนออก การขูดขนต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีดอาจเฉือนหนังให้เกิดรอยตำหนิได้หรือไม่ก็ทำให้หนังหนาบางไม่เท่ากัน เวลาขูดหนังช่างอาจขูดบนแผ่นไม้หรืออาจใช้ไม้กลมรองแล้วขูดได้ แต่วิธีหลังนัยว่าสามารถขูดขนออกได้หมดจดกว่าเมื่อขูดหนังเรียบร้อยแล้วทั้งผืนจะล้างหนังด้วยน้ำสะอาดแล้วเอาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆ ให้หนังค่อยๆ แห้งลงอย่างช้าๆ ช่างจะไม่เอาหนังผึ่งแดดจัดเพราะหนังจะแห้งและหดตัวเร็ว เกิดการบิดตัวโค้งงอไม่สวยงาม เมื่อหนังแห้งสนิทจึงแก้ออกจากกรอบตัดหนังรอบนอกซึ่งมีรอยตำหนิทิ้งก็จะได้หนังที่จะใช้แกะฉลุตามต้องการ
ปัจจุบันนี้ช่างบางคนมิได้ฟอกหนังใช้เอง แต่จะรับซื้อหนังที่ฟอกแล้วมาจากโรงงาน ทำให้งานแกะรูปหนังลดขั้นตอนไปได้ขั้นหนึ่ง แต่หนังที่ฟอกจากโรงงานจะมีลักษณะด้อยกว่าหนังที่ฟอกเองมาก คือ มีความบาง เนื้อหนังค่อนข้างยุ่ย ไม่คงทนบิดงอง่าย แชะค่อนข้างทึบแสง หนังประเภทนี้ช่างแกะหนังเรียกว่า "หนังผ่า" ด้วยเหตุที่หนังผ่ามีคุณภาพต่ำ จึงไม่นิยมใช้แกะรูปหนังสำหรับเชิด รูปหนังประเภทใช้ประดับตกแต่งที่ต้องลงสีหลายๆ สีจึงไม่เป็นที่นิยม เพราะค่อนข้างทึบแสงดังกล่าวแล้ว หนังผ่าจะใช้รูปแกะรูปประดับตกแต่งที่ลงสีดำทั้งตัวเป็นส่วนใหญ่กับหนังด้านในเพียงด้านเดียวการแกะรูปหนังประเภทนี้มีวิธีเตรียมหนังต่างไปจากหนังที่ต้องขูดขนเล็กน้อย กล่าวคือ ในขั้นตอนการฟอกหนังช่างจะผสมน้ำยากันขนร่วงลงในน้ำส้มที่ฟอกหนังด้วย การตกแต่งหนังก็ทำเฉพาะด้านในเพียงด้านเดียว
ขั้นร่างภาพ
ขั้นร่างภาพ การร่างภาพเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการแกะรูปหนัง ช่างส่วนหนึ่งไม่สามารถร่างภาพได้ ทำหน้าที่เพียงเตรียมหนังแกะฉลุหรือลงสีเท่านั้น งานร่างภาพเป็นงานที่ประณีตต้องมีความสามารถในการออกแบบ ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ จินตนาการ ฝีมือและทักษะประกอบกัน การทำรูปหนังเชิดไม่ค่อยมีปัญหาในการร่างภาพมากนัก เพระมีแบบให้เห็นอยู่มากมาย รูปที่แกะก็แยกเป็นตัวๆ มีขนาดไม่ใหญ่และใช้กนกงกงอนไม่มากมายอย่างหนังใหญ่ แต่ถ้าเป็นรูปจับและรูปหนังใหญ่แล้ว การร่างภาพเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากมากโดยทั่วไปรูปจับและรูปหนังใหญ่มักเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ ช่างต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จักรูปร่างลักษณะและนิสัยใจคอของตัวละครต่างๆ เป็นอย่างดีเพราะเวลาร่างภาพต้องให้ลักษณะภาพถูกต้องตามลักษณะรูปร่างของตัวละครในรามเกียรติ์ ทั้งต้องร่างภาพให้ได้อารมณ์ตรงตามเหตุการณ์ของเรื่องและอุปนิสัยใจคอของตัวละครตัวนั้นๆ ในการร่างภาพดังกล่าวนี้ช่างต้องศึกษาวรรณคดีและที่สำคัญคือพยายามเก็บภาพเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จากที่มีผู้ทำไว้แล้วมาคิดเสริมเติมแต่งขึ้นอีกทีหนึ่ง ในการร่างภาพที่ไม่ซับซ้อนนัก ช่างนิยมใช้เหล็กปลายแหลมที่เรียกว่า "เหล็กจาร" ร่างภาพลงไปในแผ่นหนังเลยทีเดียว ที่ทำได้เช่นนี้เพราะรอยเหล็กจารที่ปรากฏบนแผ่นหนังสามารถลบได้ง่ายโดยใช้นิ้วมือแตะน้ำหรือน้ำลายลูบเพียงเบาๆแต่สำหรับภาพที่ซับซ้อนช่างจะร่างภาพลงในกระดาษก่อน ครั้นได้ภาพลงตามต้องการแล้วจึงจารทับลงบนแผ่นหนัง หรือมิเช่นนั้นก็แกะฉลุภาพแล้ววางทาบบนแผ่นหนังแล้วพ่นสีทับก็จะได้ภาพบนแผ่นหนังตามต้องการช่างที่ทำหัตถกรรมแกะหนังเป็นอาชีพได้นำเอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการร่างแบบลงแผ่นหนัง นั่นคือเมื่อมีภาพตัวแบบที่สมบูรณ์แล้ว ก็จะนำภาพนั้นมาทำพิมพ์เขียวเพื่อใช้เป็นแบบในการแกะรูปหนังต่อไป วิธีดังกล่าวนี้ รูปแบบของภาพที่แกะจะออกมาเหมือนๆกันสามารถสร้างงานได้รวดเร็วแต่ราคาต่ำกว่ารูปที่ร่างภาพขึ้นเฉพาะรูปนั้นๆ เพียงรูปเดียว เนื่องจากตัวหนังต้องมีลายกนกงกงอน ช่างบางคนจึงอาศัยการศึกษาเรื่องลายไทยจากตำราต่างๆ แล้วนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับรูปหนัง โดยคงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นบ้านเอาไว้วิธีประสมประสานเช่นนี้ ทำให้รูปหนังได้พัฒนาในส่วนละเอียดยิ่งๆขึ้น
ขั้นแกะฉลุ
ขั้นแกะฉลุ เมื่อร่างภาพเสร็จก็ถึงขั้นแกะฉลุขั้นนี้ต้องใช้ความชำนาญและต้องพิถีพิถันมากเพื่อให้ได้ดอกลายอ่อนงาม ช่วงจังหวะของดอกลายหรือกนกแต่ละตัวพอเหมาะพอดี ในการแกะฉลุ มีเครื่องมือที่สำคัญๆ ได้แก่ เขียงสำหรับรองแกะฉลุหนัง 2 อัน เป็นชนิดไม้เนื้อแข็งเนื้อเหนียว 1 อัน และไม้เนื้ออ่อนเนื้อเหนียว 1 อัน มีดขุด 2 เล่ม เป็นชนิดปลายแหลมเล็ก 1 เล่ม และปลายแหลมมน 1 เล่ม ตุ๊ดตู่หรือมุก 1 ชุด มีชื่อเรียกแต่ละอันตามลักษณะปากต่างๆกัน เช่น มุกกลม มุกเหลี่ยม มุกโค้ง มุกตา มุกดอก มุกวงรี และมุกปากแบน ค้อนตอกมุก 1 อัน และเทียนไขหรือสบู่สำหรับจิ้มปลายมีดขุดหรือปลายมุก 1 ก้อน
วิธีแกะ ถ้าแบบตอนใดเป็นกนกหรือตัวลายจะใช้มีดขุดการขุดจะใช้เขียงไม้เนื้ออ่อนรองหนัง แล้วกดปลายมีดให้เลื่อนไปเป็นจังหวะตามตัวลายแต่ละตัวโดยไม่ต้องยกมีด ลายตัวใดใหญ่มีส่วนโค้งกว้างก็ใช้มีดปลายแหลมเล็ก ถ้าแบบตอนใดต้องทำเป็นดอกลายต่างๆ หรือเดินเส้นประ ก็ใช้มุกตอกตามลักษณะของปากมุกแต่ละแบบ การตอกมุกจะใช้ค้อนตอกโดยมีเขียงไม้เนื้อแข็งรองหนัง หลังจากแกะฉลุส่วนภายในของตัวรูปสำเร็จ ก็ใช้มีดขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอก ก็จะได้รูปหนังแยกออกเป็นตัว ถ้าเป็นรูปหนังเชิดช่างจะใช้หมุดหรือเชือกหนังร้อยส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้เข้าตามส่วนต่างๆ ของรูป ซึ่งมีส่วนของมือ แขน และปาก เป็นต้น
ขั้นลงสี
ขั้นลงสี การลงสีหนังขึ้นอยู่กับลักษณะรูปและประโยชน์การใช้สอย รูปหนังสำหรับเชิดมีความมุ่งหมายจะใช้แสดงนาฏกรรมเล่นแสง สี และเงา ต้องการความเด่นสะดุดตาช่างจึงเลือกใช้สีฉูดฉาด เอาสีที่ตัดกันมาใช้ร่วมกัน ใช้หลายสีและเป็นสีโปร่งแสง เช่น หมึกสี หรือที่ช่างแกะหนังเรียกว่า "สีซอง" หรือ "สีเยอรมัน" สีประเภทนี้เวลาใช้จะผสมด้วยสุรา น้ำร้อน หรือน้ำมะนาว ยกเว้นสีชมพูซึ่งผสมกับน้ำร้อนได้เพียงอย่างเดียว คุณสมบัติของสีชนิดนี้สามารถซึมติดอยู่ในเนื้อหนังและไม่ลอกง่ายๆ รูปหนังเชิดส่วนใหญ่จะใช้สีชนิดนี้ เว้นแต่ตัวตลกหรือรูปอื่นๆ ที่ต้องการให้ดูทึมๆ ก็ใช้สีทึบแสง มีสีน้ำมันเป็นอาทิ สำหรับหนังใหญ่หรือรูปจับถ้าจะลงสีหลายสีก็ใช้สีชนิดนี้ แต่การเลือกสีค่อนข้างจะให้กลมกลืนกันไม่ฉูดฉาดอย่างรูปหนังเชิดของหนังตะลุง แต่ถ้าจะลงสีเดียวก็ลงสีดำ เมื่อจะเอาไปใช้ประดับตกแต่งก็ทาบบนพื้นขาว ทำให้ลวดลายของรูปหนังซึ่งลงดำตัดกับพื้นขาวดูแล้วเด่นงาม เนื่องจากรูปหนังมีเส้นเดินมุกและเส้นแกะด้วยมีดขุดเป็นการตัดเส้นอยู่ในตัวแล้ว สีที่ลงไม่ต้องการความอ่อนเข้มหรือความกลมกลืนระหว่างสีหรือเล่นเงาแต่อย่างใด การลงสีจึงทำได้สะดวก โดยใช้พู่กันซึ่งทำด้วยหวายเหลาให้ปลายแหลมแล้วทุบปลายพอช้ำๆ นำมาจุ่มน้ำหมึกแล้วระบายลงบนแผ่นหนังตามรูปแบบที่กำหนด
ขั้นลงน้ำมันชักเงา
ขั้นลงน้ำมันชักเงา เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จ ก็ถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการลงน้ำมันชักเงาหรือไม่ก็ได้ แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นรูปหนังเชิดมักจะลงน้ำมันชักเงาด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำมันชักเงาช่วยขับให้ตัวหนังเป็นมันงาม เมื่อออกจอผ้าขาวจะดูสวยยิ่งขึ้น อนึ่ง รูปหนังชนิดนี้จะถูกใช้เชิดบ่อยที่สุด การลงน้ำมันชักเงาจะช่วยรักษาสภาพหนังมิให้ชำรุดเร็วเกินไป
การลงน้ำมันชักเงาทำได้ง่าย เพียงแค่เอารูปหนังวางราบบนกระดาษที่สะอาด ใช้พู่กันแบนชุบน้ำมันชักเงาทาบตามตัวหนังด้านละ ๓-๔ ครั้ง แล้ววางไว้ให้แห้งก็เสร็จการแกะรูปหนังเป็นงานที่ละเอียดประณีต มีขั้นตอนดำเนินการค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ความรู้และทักษะหลายๆ ด้านประกอบกัน การแกะรูปแต่ละตัวๆ โดยเฉพาะรูปหนังใหญ่และรูปจับต้องใช้เวลาหลายวัน ช่างที่เป็นศิลปินต้องอาศัยความรักงาน ความพิถีพิถัน ทุ่มเทจิตใจในผลงานทั้งหมด เพื่อให้ผลงานมีคุณค่าทางศิลปะ ดูแล้วมีชีวิตวิญญาณ ฉะนั้นงานของศิลปินประเภทนี้จึงมีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาดทั่วไป รูปหนังที่วางหรือเร่จำหน่ายอยู่ในภาคใต้ส่วนใหญ่นั้นเป็นฝีมือของช่างแกะหนังที่มุ่งทางปริมาณมากกว่าคุณภาพ อย่างไรก็ตามช่างประเภทหลังนี้เมื่อทำงานแกะหนังนานๆ ก็คงมีบางส่วนที่พัฒนาฝีมือถึงขั้นเป็นศิลปินได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น